เช็คตัวเองว่าแบบไหนที่เรียกว่าผมร่วงมากผิดปกติ?
โดยทั่วไปผมของคนเราจะร่วงประมาณ 100 เส้นต่อวัน หากเกินกว่านั้นควรเริ่มสงสัยตัวเองเพื่อหาสาเหตุของปัญหาผมร่วง เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือความผิดปกติในร่างกาย
ปกติแล้วจะมีผมที่หยุดการเจริญและหลุดร่วงไป วันละ 50-100 เส้น แต่ในบางภาวะอาจทำให้ผมร่วงได้มากกว่าปกติ เช่น มีประวัติพันธุกรรม ผมร่วง ผมบาง หัวล้าน ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ คุณแม่หลังคลอด การเจ็บป่วยเรื้อรัง การเสียเลือด การใช้ยาบางชนิด การขาดสารอาหาร และภาวะเครียดทางจิตใจ
ผมร่วง เกิดจากอะไร ในทางการแพทย์ จะแบ่งภาวะผมร่วง ออกเป็น 2 แบบ คือ
- ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น
- ผมร่วงแบบมีแผลเป็น สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดผมร่วง จะแบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในที่กระตุ้นให้ผมร่วงผิดปกติ
ปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ยาเคมีบำบัด ยาละลายลิ่มเลือด ยากันชัก ยาลดความดันบางชนิด ยารักษาโรคข้อเสื่อมข้ออักเสบ ยาลดความเครียดบางชนิด ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ ยาคุมกำเนิด
- การติดเชื้อราที่หนังศีรษะ
- การฉายรังสีจากการรักษามะเร็ง
- หนังศีรษะได้รับการบาดเจ็บจากการถูกดึง แกะ เกา จนทำให้เป็นแผล
- การดึงรั้งเส้นผมต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น จากที่ติดผม การมัดผม การถักเปียติดหนังศีรษะ
- สารเคมีในผลิตภัณฑ์ดัด ย้อม ทำสีผม หรือ เส้นผมที่โดนความร้อนสูงจากที่หนีบผม หรือแสงแดด ทำให้เคราตินในเส้นผมถูกทำลาย ผมจึงเปราะง่าย ขาดร่วงง่าย
ปัจจัยภายในที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง
- ผมร่วงจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมน มักพบเด่นในเพศชาย เกิดได้ทั้งจากการถ่ายทอดยีนเด่นบนโครโมโซมร่างกาย และการถ่ายทอดแบบหลายปัจจัยจากหลายยีนร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ทำให้หนังศีรษะมีความไวต่อฮอร์โมนดีเอชที จึงทำให้เส้นผมลีบและร่วงง่าย มีอายุสั้นกว่าปกติ
- ส่วนใหญ่อาการจะเริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่อายุ 18-25 ปี และจะร่วงเพิ่มมากขึ้นตามวัย วิธีสังเกต คือ ผมบริเวณด้านหน้าและ ตรงกลางศีรษะ จะบางลง และพบประวัติครอบครัวเป็นโรคศีรษะล้านจากพันธุกรรม
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เซลล์รอบรากผมอักเสบ จนไม่สามารถผลิตเส้นผมขึ้นมาใหม่ได้
- ผมร่วงจากความเครียดของร่างกายหรือการเจ็บป่วยรุนแรง เกิดจากร่างกายมีการเจ็บป่วยรุนแรงไม่ว่าจะเป็นทางใจหรือทางกาย ส่งผลให้เส้นผมระยะ Telogen หลุดร่วงออกมาเร็วและมากกว่าปกติ ผมมักร่วงหลังการเจ็บป่วยประมาณ 3 เดือน ภาวะเจ็บป่วยที่กระตุ้นผมร่วงชนิดนี้ เช่น มีไข้สูง ไข้เลือดออก ความเครียดสะสม การเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนแบบเฉียบพลัน ซึ่งพบได้ในคุณแม่หลังคลอดที่มักจะมีอาการ ผมร่วงหลังคลอด เป็นต้น
- ภาวะการดึงผมตนเองที่เกิดจากปัญหาทางจิตใจ (Trichotillomania)
- โรคแพ้ภูมิตนเอง SLE/DLE (Systemic Lupus Erythematosus, Discoid Lupus Erythematosus)
- ไทรอยด์ฮอร์โมนผิดปกติ
- ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ขาดธาตุเหล็ก ขาดโปรตีน ลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว ขาดวิตามินดี เป็นต้น
- โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่กำเนิด ที่ทำให้การสร้างเส้นผมผิดปกติ
- โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิส
ผมร่วงจึงเป็นสัญญาณบางอย่างของโรคภัยที่เราไม่อาจมองข้าม หากเกิดอาหารดังกล่าวควรเข้าพบแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุของอาการผมร่วง